ปัญหาบ้านทรุดสาเหตุเกิดจาก?

ปัญหาบ้านทรุดสาเหตุเกิดจาก?

ปัญหาบ้านทรุดสาเหตุเกิดจาก?

01.jpg

สาเหตุการเกิดบ้านทรุด

 1. น้ำหนักบ้าน
น้ำหนักของบ้านเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้บ้านทรุดตัวได้ โดยเฉพาะบ้านที่เป็นตึกแถว ทาวน์โฮม หรือบ้านแฝดที่มีโครงสร้างของบ้านติดกับหลังอื่น เมื่อเพื่อนบ้านทำการต่อเติมบ้านจนเกินน้ำหนักที่กำหนดไว้ หรือน้ำหนักมากเกินไปจนโครงสร้างเดิมรับไม่ไหว ก็ทำให้เกิดปัญหาบ้านทรุดได้ หรือในกรณีบ้านเดี่ยวที่ทำการต่อเติมบ้าน โดยต่อเติมเพิ่มจากโครงสร้างเดิม แต่ไม่ได้คำนวณน้ำหนัก จนทำให้น้ำหนักของตัวบ้านเพิ่มมากขึ้น จนฐานบ้านเดิมรับไม่ไหวก็สามารถทำให้บ้านร้าว และทรุดได้ในที่สุด

2. สภาพพื้นดิน
สภาพพื้นดินบริเวณที่ก่อสร้างบ้านเป็นอีกเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้านใหม่ หรือซื้อบ้านจากโครงการ ควรศึกษาให้ดีว่าก่อนหน้านี้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเคยเป็นพื้นที่ทำอะไรมาก่อน โดยการสังเกตสภาพแวดล้อมรอบๆ หากเคยเป็นพื้นที่ทำนา เป็นหนองน้ำ ดินบริเวณนั้นก็จะมีความอ่อนตัวมากกว่าปกติ หากสร้างบ้านก็จะมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาบ้านทรุดได้ง่าย ต้องทำการถมดินทิ้งไว้ก่อนอย่างน้อย 6-12 เดือน เพื่อให้ดินมีความหนาแน่นมากพอที่จะทำการก่อสร้างได้

3. เสาเข็ม
การสร้างบ้านหรืออาคารควรใส่ใจกับการเลือกเสาเข็มเป็นอย่างมาก เพราะเสาเข็มเป็นเหมือนตัวช่วยที่ทำให้รากฐานของบ้านนั้นมีความแข็งแรง คงทน สำหรับการเลือกความยาวของเสาเข็มต้องพิจารณาจากดินบริเวณที่สร้างอาคาร รวมถึงขนาดของอาคาร โดยการเลือกเสาเข็มจะต้องเลือกที่มีความยาวพอที่สามารถตอกลงไปจนถึงชั้นดินแข็งได้โดยตรง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นดินอ่อน หากเลือกเสาเข็มที่สั้นเกินไป จะทำให้บ้านทรุดง่าย แม้บ้านอาจจะไม่ทรุดในช่วงปีแรกๆ แต่เมื่อผ่านไป 5-10 ปีบ้านก็จะทรุดตัวลงเช่นเดิม แต่อย่างไรก็ตามก่อนสร้างบ้านควรสำรวจพื้นดินให้ทั่วบริเวณที่สร้าง เนื่องจากดินในแต่ละจุดอาจมีความอ่อน แข็งที่แตกต่างกัน จะได้เลือกความยาวของเสาเข็มให้เหมาะในแต่ละพื้นที่

4. น้ำท่วมขัง
ในพื้นที่ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมขังบ่อยๆ หรือน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน หลังจากที่น้ำลดลงแล้วหนึ่งในปัญหาที่ตามมาคือเกิดการชะล้างหน้าดิน ทำให้ชั้นดินบริเวณนั้นๆ ต่ำลง และส่งผลทำให้เกิดหลุมโพรงใต้คานคอดิน นอกจากนี้การที่น้ำท่วมบ่อยๆ ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแรงดันน้ำใต้ดิน จนเกิดการเคลื่อนตัวของชั้นดินได้ ปัญหานี้สามารถทำให้บ้านทรุดได้เช่นกัน นอกจากนี้ในกรณีที่บริเวณรอบๆบ้านเกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ เช่น มีการขุดดินบริเวณบ้านออกเป็นจำนวนมาก ขุดบ่อ ขุดคลอง หรือมีการสูบน้ำออกจากบ่อขนาดใหญ่ จะทำให้พื้นดินเกิดการทรุดตัว และส่งผลต่อโครงสร้างของบ้านได้เช่นกัน 

 

วิธีสังเกตุบ้านทรุด
1.ประตูหน้าต่างตกร่อง
    เมื่อบ้านทรุดจะทำให้บ้านมีพื้นที่ไม่สมดุล เอียง ทำให้ประตูหน้าต่างมีปัญหาได้ หนึ่งในปัญหาที่พบได้ง่ายคือ ประตู หน้าต่างตกร่อง ทำให้ปิดประตูลำบาก บางครั้งอาจปิดไม่สนิท เวลาเปิดประตูก็จะครูดไปกับพื้นบ้าน ส่วนหน้าต่างก็ปิดไม่ลงล็อก เพราะบ้านเอียง

2.เกิดรอยร้าวตามจุดต่างๆ ของบ้าน
    ปัญหารอยร้าวตามอาคารถือเป็นเรื่องที่สามารถพบได้บ่อย ซึ่งรอยร้าวนั้นมีด้วยกันหลากหลายประเภท รอยร้าวแต่ละประเภทก็เกิดจากปัจจัยที่ต่างกัน เช่น ความชื้น การฉาบปูนที่ไม่ได้มาตรฐาน ไปจนถึงการทรุดตัวของดิน ซึ่งส่งผลต่อโครงสร้างของอาคาร ทำให้เกิดการขยับจนเกิดรอยร้าวได้ ซึ่งรอยร้าวนั้นถือเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหาบ้านทรุด สำหรับรอยร้าวที่ควรสังเกตมีดังนี้
  •รอยร้าวที่มุมเฉียง 45 องศา
  •รอยร้าวที่มีขนาดความกว้างตั้งแต่ 0.5 มิลลิเมตรขึ้นไป
  •รอยร้าวที่มีขนาดขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ 
  •เกิดเสียงเวลาเดิน หรือบ้านเกิดเสียงลั่นแบบไม่มีสาเหตุ

3.พื้นดินรอบบ้านยุบเป็นโพรง
    อีกหนึ่งสัญญาณเตือนที่เข้าขั้นฉุกเฉินคือ พื้นดินรอบบ้านยุบเป็นโพรง โดยพื้นดินรอบๆบ้านจะยุบตัวต่ำลงจนสามารถมองเห็นโครงสร้างของบ้าน ถือเป็นสัญญาณเตือนบ้านทรุดที่เข้าขั้นวิกฤต เพราะบ้านสามารถถล่มลงมาได้ นอกจากนี้การมีโพรงใต้บ้านยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นหนู หรืองู เป็นต้น

วิธีแก้ปัญหา
1. ปรึกษาวิศวกรก่อสร้าง
    เมื่อเกิดปัญหาบ้านทรุด อันดับแรกให้ซ่อมแซมปัญหาที่มองเห็นด้วยสายตาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการปิดรอยร้าว ถมโพรงดินรอบบ้าน หลังจากนั้นให้รีบปรึกษาวิศวกรก่อสร้าง เพราะวิศวกรนั้นมีความเชี่ยวชาญ สามารถแนะนำได้ว่าปัญหาบ้านทรุดที่เกิดขึ้นนั้นต้องแก้ไขในส่วนใด เพื่อให้ตรงจุด และถูกต้อง ช่วยทำให้บ้านมีความมั่งคง และมีรากฐานที่แข็งแรง

2. ดีดบ้าน
    การดีดบ้าน หรือการปรับระดับบ้านให้สูงสูงขึ้น เป็นการแก้ไขปัญหาบ้านทรุดที่มีสาเหตุมาจากปัญหาโครงสร้างฐานราก โดยบ้านจะถูกดีดตัวยกขึ้นจากฐานรากเดิม เพื่อปรับแก้โครงสร้างเดิมให้มีความมั่นคง แข็งแรงมากขึ้น เหมาะกับน้ำหนักของตัวบ้าน หลังจากนั้นก็จะประกบตัวบ้านเข้ากับฐานใหม่ สำหรับการดีดบ้านนั้นควรเลือกบริษัทรับก่อสร้างที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย

3. ถมดิน เทคอนกรีต เพื่อปิดโพรง
    หากเกิดปัญหาดินรอบๆ บ้านทรุดตัว จนเกิดเป็นโพรงขนาดใหญ่ บริเวณรอยต่อระหว่างคานคอดิน ซึ่งมีชื่อเรียกอื่นว่าคานพื้นชั้นหนึ่ง หรือคานพื้นชั้นล่าง ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนว่าอาจเกิดปัญหาบ้านทรุดได้ในอนาคต นอกจากนี้โพรงขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษ หนู และงูได้อีกด้วย สำหรับวิธีแก้ปัญหาโพรงดินสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการปิดโพรงด้วยการถมดิน หรือเทคอนกรีตปิดรอยต่อ แต่ในกรณีที่โพรงดินมีขนาดใหญ่มากๆ อาจจะต้องใช้อิฐมอญก่อต่อจากคานคอดินขึ้นมาเพื่อปิดช่องโหว่

4. ลงเสาเข็มใหม่
    หากปัญหาบ้านทรุดเกิดจาก เสาเข็ม ไม่ว่าว่าจะเป็นการใช้เสาเข็มที่สั้นเกินไป เสาเข็มแตกร้าว หรือไม่ได้ลงเสาเข็มก่อนสร้างบ้าน ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะทำให้บ้านรับน้ำหนักไม่ไหว จนเกิดความเสียหายต่อโครงสร้างของบ้าน จนทำให้บ้านทรุดได้ ดังนั้นจะต้องแก้ไขปัญหาจากต้นต่อ ด้วยการลงเสาเข็มใหม่ เพื่อแก้ไขไม่ให้บ้านทรุดหนักกว่าเดิม

5. ฉีดวัสดุอุดรอยร้าว
    อีกหนึ่งปัญหาที่พบได้บ่อยเมื่อบ้านทรุดคือรอยร้าวที่เกิดตามจุดต่างๆ ของบ้าน ซึ่งรอยร้าวต่างๆ เหล่านั้นทำให้มด แมลง และสัตว์ตัวเล็กๆ สามารถเข้าไปทำรังได้ นอกจากนี้รอยร้าวเหล่านั้นยังอาจทำให้เกิดปัญหาน้ำฝนรั่วซึมเข้าบ้านได้ง่ายอีกด้วย ซึ่งการแก้ไขปัญหารอยร้าวเหล่านี้สามารถทำได้ด้วยการฉีดวัสดุอุดรอยร้าว วัสดุกันรั่วซึม เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างชั่วคราว

แบ่งปันเรื่องราวที่น่าสนใจ:

บทความที่เกี่ยวข้อง :

บทความล่าสุด

1726714291